เลี้ยงปลานิลอย่างไร ให้ได้ผลผลิตสูง

ปัจจุบันการเลี้ยงปลานิลในบ่อดินแบ่งได้ 4 ประเภท ตามลักษณะของการเลี้ยง ดังนี้

เพิ่มผลผลิตปลานิล
1. การเลี้ยงปลานิลแบบเดี่ยว โดยปล่อยลูกปลาขนาดเท่ากันลงเลี้ยงพร้อมกันใช้เวลาเลี้ยง   6 – 12  เดือน แล้ววิดจับหมดทั้งบ่อ

 2. การเลี้ยงปลานิลหลายรุ่นในบ่อเดียวกัน  โดยใช้อวนจับปลาใหญ่ คัดเฉพาะขนาดปลาที่ตลาดต้องการจำหน่ายและปล่อยให้ปลาขนาดเล็กเจริญเติบโตต่อไป

 3.การเลี้ยงปลานิลร่วมกับปลาชนิดอื่น เช่น ปลาสวาย ปลาตะเพียน ปลาจีน ฯลฯ เพื่อใช้ประโยชน์จากอาหาร  หรือเลี้ยงร่วมกับปลากินเนื้อเพื่อกำจัดลูกปลาที่ไม่ต้องการ ขณะเดียวกันจะได้ปลากินเนื้อเป็นผลพลอยได้ เช่น การเลี้ยงปลานิลร่วมกับปลากราย และการเลี้ยงปลานิลร่วมกับปลาช่อน เป็นต้น

 4.การเลี้ยงปลานิลแบบแยกเพศโดยวิธีแยกเพศปลา หรือเปลี่ยนเป็นเพศเดียวกันเพื่อป้องกันการแพร่พันธุ์ในบ่อส่วนมากนิยมเลี้ยงเฉพาะปลาเพศผู้ซึ่งมีการเจริญเติบโตเร็วกว่าเพศเมียโดยสามารถจัดเตรียมลูกปลาเพศผู้ได้ 4 วิธีดังนี้

     วิธีที่ 1 การคัดเลือกปลานิลโดยดูลักษณะเพศภายนอกนำปลาที่เลี้ยงทั้งหมดมาแยกเพศโดยตรงซึ่งจำเป็นต้องเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่พอสมควร โดยดูจากลักษณะสีใต้คางของปลา สำหรับปลาเพศผู้จะมีสีแดงหรือสีชมพู ส่วนปลาเพศเมียใต้คางจะมีสีเหลือง หรือจะสังเกตบริเวณช่องขับถ่ายเพศเมียจะมี 3 ช่อง เพศผู้มี 2 ช่อง ขนาดปลาที่สามารถเห็นความแตกต่างได้ชัดเจนควรมีขนาดความยาวตั้งแต่ 12 ซม. และมีน้ำหนัก 50 กรัม ขึ้นไป

      วิธีที่ 2 การผสมข้ามสายพันธุ์ การผสมข้ามพันธุ์ทั้งสกุลและชนิด ในปลาบางชนิดทำให้เกิดลูกปลาเพศเดียวกันได้ เช่น การผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่าง O.niloticus กับ O.aureus จะได้ลูกพันธุ์ปลานิลผู้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งประสบความสำเร็จมาแล้วในประเทศอิสราเอล

      วิธีที่ 3 การใช้ฮอร์โมนแปลงเพศปลานิล สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การฝังแคปซูล การแช่ปลาในสายละลายฮอร์โมนและการผสมฮอร์โมนในอาหารให้ลูกปลากิน โดยใช้ฮอร์โมนแอนโดรเจนหรือฮอร์โมนเพศผู้สามารถเปลี่ยนเพศได้มากกว่า 95 เปอร์เซ็นต์

      วิธีที่ 4 ปลานิลซุเปอร์เมล เป็นการผลิตลูกปลานิลเพศผู้ทั้งครอก ซึ่งสถาบันวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำได้ดำเนินการขยายพันธุ์พร้อมจำหน่ายให้แก่เกษตรกรหลายแห่ง อาทิ ศูนย์พัฒนาประมงน้ำจืดพิษณุโลก สุราษฏร์ธานีและขอนแก่น

       ขั้นตอนการเลี้ยงปลานิลในบ่อ

 1. กำจัดวัชพืชและพรรณไม้ต่างๆ เช่น กก หญ้า ผักตบชวา ให้หมดโดยนำมากอองสุมไว้ เมื่อแห้งแล้วนำมาใช้เป็นปุ๋ยหมักในขณะที่ปล่อยปลาลงเลี้ยงถ้าในบ่อเก่ามีเลนมากจำเป็นต้องสาดเลนขึ้นโดยนำไปเสริมคันดินที่ชำรุด หรือ ใช้เป็นปุ๋ยแก่พืชผัก ผลไม้  บริเวณใกล้เคียง พร้อมทั้งตกแต่งเชิงลาดและคันดินให้แน่นด้วย
     กำจัดศัตรู ศัตรูของปลานิล ได้แก่ ปลาจำพวกกินเนื้อ เช่น ปลาช่อน ปลาชะโด ปลาหมอ ปลาดุก นอกจากนี้ก็มีสัตว์พวก กบ งู เขียด เป็นต้น ดังนั้นก่อนที่จะปล่อยปลานิลลงเลี้ยงจึงจำเป็นต้องกำจัดศัตรูดังกล่าวเสียก่อน โดยวิธีระบายน้ำออกให้เหลือน้อยที่สุด
     การกำจัดศัตรู  ของปลาอาจใช้โล่ติ๊นสดหรือแห้งประมาณ 1 กิโลกรัม ต่อปริมาณน้ำในบ่อ 100 ลูกบาศก์เมตร โดยทุบหรือบดโล่ติ๊นให้ละเอียดนำลงแช่น้ำประมาณ 1 – 2 ปี๊บ ขยำโล่ติ๊นเพื่อให้น้ำสีขาวออกมาหลายๆครั้งจนหมด นำไปสาดให้ทั่วบ่อ ศัตรูพวกปลาจะลอยหัวขึ้นมาภายหลังสาดโล่ติ๊น ประมาณ 30 นาที ใช้สวิงจับขึ้นมาบริโภคได้ปลาที่เหลือตายพื้นบ่อจะลอยในวันรุ่งขึ้น ส่วนศัตรูจำพวก กบ เขียด งู จะหนีออกจากบ่อไป และก่อนปล่อยปลาลงเลี้ยงควรทิ้งระยะไว้ประมาณ 7 วัน เพื่อให้ฤทธิ์ของโล่ติ๊นสลายตัวไปหมดเสียก่อน

2. การใส่ปุ๋ย
โดยปรกติแล้วอุปนิสัย ในการกินอาหารของปลานิล จะกินอาหารจำพวกแฟรงก์ตอนพืชและสัตว์เศษวัสดุเน่าเปื่อยตามพื้นบ่อ แหน สาหร่าย ฯลฯ ดังนั้น ในบ่อเลี้ยงปลาควรให้อาหารธรรมชาติดังกล่าวเกิดขึ้นเสมอจึงจำเป็นต้องใส่ปุ๋ยลงไปละลายเป็นธาตุอาหารซึ่งพืชน้ำขนาดเล็กจำเป็นต้องใช้ในการปรุงอาหารและเจริญเติบโตโดยกระบวนการสังเคราะห์แสงซึ่งเป็นโซ่อาหาร อันดับต่อไปคือ แฟรงก์ตอนสัตว์ ได้แก่ ไรน้ำ และตัวอ่อนของแมลง  ปุ๋ยที่ใช้ได้แก่ มูลวัว ควาย หมู เป็ด ไก่ นอกจากปุ๋ยที่ได้จากมูลสัตว์แล้วก็อาจใช้ปุ๋ยหมักและฟางข้าวปุ๋ยพืชสดต่างๆ ได้เช่นเดียวกัน
     
 อัตราส่วนการใส่ปุ๋ยคอก ในระยะแรกควรใส่ประมาณ 250 – 300 กก./ ไร่ / เดือน ส่วนในระยะหลังควรลดลงเพียงครึ่งหนึ่ง หรือสังเกตสีของน้ำในบ่อ และในกรณีที่หาปุ๋ยคอกไม่ได้ก็หาปุ๋ยวิทยาศาสตร์สูตร 15  :15 : 15 ใส่ประมาณ 5 กก. / ไร่ / เดือน ก็ได้ วิธีใส่ปุ๋ยถ้าเป็นปุ๋ยคอกควรตากให้แห้งเสียก่อน เพราะปุ๋ยสดจะทำให้มีแก๊สจำพวกแอมโมเนียละลายอยู่ในน้ำมาก เป็นอันตรายต่อปลา การใส่ปุ๋ยคอกใช้วิธีหว่านลงไปในบ่อโดยละลายน้ำทั่วๆก่อนส่วนปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยสดนั้นควรกองสุมไว้ตามมุมบ่อ 2 –3  แห่ง โดยมีไม้ปักล้อมเป็นคอกรอบกองปุ๋ยเพื่อป้องกันไม่ให้ส่วนที่ยังไม่สลายตัวกระจัดกระจาย

3. อัตราปล่อยปลา อัตราการปล่อยปลาที่เลี้ยงในบ่อดินขึ้นอยู่กับคุณภาพน้ำ อาหาร และการจัดการเป็นสำคัญ โดยทั่วไปจะปล่อยลูกปลาขนาด 3 – 5 เซนติเมตร ลงเลี้ยงในอัตรา 1 – 3 ตัว / ตารางเมตร หรือ 2,000 – 5,000 ตัว / ไร่

4. การให้อาหาร การใส่ปุ๋ยเป็นการให้อาหารแก่ปลานิลที่สำคัญมากวิธีหนึ่ง เพราะจะได้อาหารธรรมชาติที่มีโปรตีนสูงและราคาถูกแต่เพื่อเป็นการเร่งให้ปลานิลที่เลี้ยงเจริญเติบโตเร็วขึ้นหรือถูกต้องตามหลักวิชาการ จึงควรให้อาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรทเป็นอาหารสมทบด้วย เช่น รำ ปลายข้าว มีโปรตีนประมาณ 20 % เศษอาหารที่เหลือจากโรงครัวหรือภัตตาคาร อาหารประเภทพืชผัก เช่น แหนเป็ด สาหร่าย ผักตบชวาสับให้ละเอียด เป็นต้น อาหารสมทบเหล่านี้ควรเลือกชนิดที่มีราคมถูกและหาได้ง่าย ส่วนปริมาณที่ให้ก็ไม่ควรเกิน 4 % ของน้ำหนักปลาที่เลี้ยง หรือจะใช้วิธีสังเกตจากปลาที่ขึ้นมากินอาหารจากจุดที่ให้เป็นประจำ คือ ถ้ายังมีปลานิลออกมาออกันมากเพื่อรอกินอาหารก็เพิ่มจำนวนอาหารมากขึ้นตามลำดุบทุก 1 – 2 สัปดาห์

ในการให้อาหารสมทบมีข้อพึงระวังคือ  ถ้าปลากินไม่หมดอาหารจมพื้นบ่อหรือละลายน้ำมากก็จะทำให้เกิดความเสียหายขึ้นหลายประการ เช่น เสียค่าใช้จ่ายไปโดยเปล่าประโยชน์ ทำให้น้ำเน่าเสียเป็นอันตรายต่อปลาที่เลี้ยง และ/หรือต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายในการสูบถ่ายเปลี่ยนน้ำบ่อยๆเป็นต้น


 การเลี้ยงปลานิลเพศผู้ในบ่อดินแบบกึ่งพัฒนา

              1. เตรียมบ่อโดยสูบน้ำเข้าบ่อให้ได้ระดับน้ำสูงประมาณ 1 เมตรใส่ปูนขาว 200 กก./ไร่ และปุ๋ยคอก 200 กก./ ไร่ ทิ้งไว้เป็นเวลาประมาณ 7 วัน เพื่อให้เกิดอาหารธรรมชาติในบ่อซึ่งเป็นอาหารปลา

               2. ปล่อยลูกปลา ขนาด 2 – 3 เซนติเมตร จำนวน 5,000 ตัว / ไร่ ในระหว่างการเลี้ยงมีการเติมปุ๋ยคอก 200 กก./ ไร่ / เดือน เพื่อให้เกิดอาหารธรรมชาติในบ่อ ให้อาหารเสริม เช่น ปลาป่น  รำข้าว กากถั่วเหลือง  เป็นต้น  ควรมีการเติมน้ำในบ่อปลาด้วยอย่างสม่ำเสมอ

               3. เมื่อเลี้ยงครบ 5 เดือน จะได้ปลาขนาด 300 กรัม เริ่มให้ปลากินอาหารเม็ดระดับโปรตีน 25 % ปริมาณ 3% ของน้ำหนักตัวเป็นเวลา 1 เดือน

 4. ได้ปลานิลขนาด 2 – 3 ตัว / กิโลกรัม ผลผลิต 1.5 – 2 ตัน / ไร่ (ข้อมูลจาก สถาบันวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ กรมประมง)



 การเลี้ยงปลานิลเพศผู้ในบ่อดินแบบพัฒนา

                1. เตรียมบ่อโดยสูบน้ำเข้าบ่อให้ได้ระดับความสูงประมาณ 1 เมตร ใส่ปูนขาว 200 กก./ไร่ ทิ้งไว้ประมาณ 7 วัน

 2. นำลูกปลานิลขนาด 45 กรัม มาปล่อยในบ่อที่เตรียมน้ำไว้ในอัตรา 8,000 ตัว / ไร่

 3. ให้อาหารเม็ดระดับโปรตีน 25 % วันละ 3 ครั้ง ปริมาณ 5 % ของน้ำหนักตัว และมีการตรวจสอบอัตรารอดและปรับปริมาณอาหารทุกเดือน เลี้ยงเป็นเวลา 4 เดือนในระหว่างการเลี้ยงมีการเปิดเครื่องตีน้ำเพื่อเพิ่มอากาศตลอดเวลา

4. จะได้ปลานิลขนาด 1– 2 ตัว / กิโลกรัม ผลผลิต 3 ตัน / ไร่ (ข้อมูลจาก สถาบันวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ  กรมประมง)



 การเลี้ยงปลานิลร่วมกับสัตว์บก
 วัตถุประสงค์เพื่อใช้ข้อมูลสัตว์และปุ๋ยในบ่อเป็นอาหารซึ่งจะเป็นการใช้ประโยชน์แบบผสมผสาน ระหว่างการเลี้ยงปลากับการเลี้ยงสัตว์อื่นๆ โดยเศษอาหารที่เหลือจากการย่อย หรือตกหล่นจากที่ให้อาหารของปลาโดยตรง ในขณะที่ข้อมูลของสัตว์จะเป็นปุ๋ยและให้แร่ธาตุสารอาหารแก่พืชน้ำซึ่งเป็นอาหารของปลา ซึ่งจะลดต้นทุนค่าใช้จ่ายและแก้ปัญหามลภาวะได้

 วิธีการเลี้ยงสัตว์ร่วมกับปลานิลอาจใช้วิธีการสร้างคอกสัตว์บนบ่อปลานิลเพื่อไม่ให้มูลไหลลงบ่อปลาโดยตรง หรือสร้างคอกสัตว์ไว้บนคันบ่อปลาแล้วนำมูลสัตว์มาใส่ลงบ่อในอัตราที่เหมาะสม ในประเทศไทยนิยมเลี้ยงสุกร จำนวน 10 ตัว หรือ เป็ด ไก่ไข่ จำนวน 200 ตัว ต่อบ่อปลาพื้นที่น้ำ 1 ไร่

  
 การเลี้ยงปลานิล โดยใช้แหล่งน้ำธรรมชาติทั้งบริเวณน้ำกร่อยและน้ำจืดที่มีคุณภาพน้ำดี สำหรับกระชังส่วนใหญ่ที่ใช้กันโดยทั่วไปจะมีขนาดกว้าง 20 เมตร ยาว 25 เมตร ลึก 5 เมตร สามารถจะนำมาใช้ติดตั้ง 2 รูปแบบคือ

กระชังหรือคอกแบบผูกติดกับที่ 
สร้างโดยใช้ไม้ไผ่ทั้งลำปักลงในแหล่งน้ำ ควรมีไม้ไผ่ผูกเป็นแนวนอนหรือเสมอผิวน้ำที่ระดับประมาณ 1 – 2 เมตร เพื่อยึดลำไม้ไผ่ที่ปักลงในดินให้แน่น กระชังตอนบนและล่างควรร้อยเชือกคร่าวเพื่อใช้ยืดตัวกระชังให้ขึงตึงโดยเฉพาะตรงมุม 4 มุม ของกระชังทั้งด้านล่างและด้านบนการวางกระชังควรวางให้เป็นกลุ่มโดยเว้นระยะห่างกันให้น้ำไหลผ่านได้สะดวก  อวนที่ใช้ทำกระชัง เป็นอวนไนลอนช่องตาแตกต่างกันตาม ขนาดของปลานิลที่เลี้ยง คือขนาดช่องตา 1/4 นิ้ว ขนาด1/2 นิ้ว และอวนตาที่ถี่สำหรับเพาะและเลี้ยงลูกปลาวัยอ่อน

กระชังแบบลอย ลักษณะของกระชังก็เหมือนกับกระชังโดยทั่วไปแต่ไม่ใช้เสาปักยึดอยู่กับที่ ส่วนบนของกระชังผูกติดทุ่นลอยซึ่งใช้ไม้ไผ่หรือแท่งโฟมมุมทั้ง4ด้านล่างใช้แท่งปูนซีเมนต์หรือก้อนหินผูกกับเชือกคร่าวถ่วงให้กระชังจมถ้าเลี้ยงปลาหลาย กระชังก็ใช้เชือกผูกโยงติดกันไว้เป็นกลุ่ม

       อัตราส่วนของปลาที่เลี้ยงในกระชัง ปลานิลที่เลี้ยงในกระชังในแหล่งน้ำที่มีคุณภาพน้ำดี  สามารถปล่อยปลาได้หนาแน่นคือ        40 – 100 ตัว / ตรม. โดยให้อาหารสมทบที่เหมาะสม เช่น ปลายข้าว หรือ มันสำปะหลัง รำข้าว ปลาป่น และพืชผักต่างๆโดยมีอัตราส่วนของโปรตีนประมาณ 20 %

      สำหรับวิธีทำอาหารผสมดังกล่าว คือ ต้มเฉพาะปลายข้าว หรือมันสำปะหลังให้สุก แล้วนำมาคลุกเคล้ากับรำปลาป่นและพืชผักต่างๆ แล้วปั้นเป็นก้อนเพื่อมิให้ละลายน้ำได้ง่ายก่อนที่ปลาจะกิน


การเลี้ยงปลานิลในน้ำกร่อย
ในปัจจุบันพื้นที่และสภาพแหล่งน้ำจืดที่เหมาะสมในการเพาะเลี้ยงปลามีปริมาณลดน้อยลง  การใช้แหล่งน้ำกร่อยและทะเล เพื่อการเพาะเลี้ยงกำลังเป็นที่น่าสนใจ ปลาในสกุลปลานิลหลายชนิดสามารถเจริญเติบโตได้ดีในน้ำกร่อย  ซึ่งการคัดเลือกปลานิลชนิดใดเพื่อเลี้ยงในน้ำความเค็มต่างๆ จะต้องพิจารณาให้เหมาะสม

             ข้อดีของการเลี้ยงปลานิลในน้ำกร่อยคือจะมีปัญหาเรื่องกลิ่นน้อยและมีปริมาณแบคทีเรียน้อยกว่าการเลี้ยงในน้ำจืด  แต่สำหรับปัญหาใหญ่ของการเลี้ยงปลาในน้ำที่มีระดับความเค็มสูง  คือโรคปลา  ความเครียดและการทำร้ายร่างกายกันเอง

 อ้างอิงจาก:กรมประมง. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์