การให้อาหารปลานิลในกระชัง

ให้อาหารปลานิลในกระชัง ตามช่วงเวลาที่เหมาะสม

อาหารปลานิล
สำหรับการเลี้ยงปลานิลในกระชัง ถือว่าเป็นรูปแบบการเลี้ยงปลาแบบพัฒนา (Intensive) หรือกึ่งพัฒนา (Semi intensive) เน้นการให้อาหารเพื่อเร่งผลผลิตและการเจริญเติบโตเป็นหลัก จึงควรให้อาหารจำพวกโปรตีนค่อนข้างสูง และเหมาะสมกับความต้องการของปลานิลแต่ละขนาด และปัจจัยสำคัญที่เกษตรผู้เลี้ยงปลาควรพิจารณา ในการให้อาหารปลานิลในกระชัง มีดังนี้ครับ

1. ปริมาณโปรตีนในอาหารสำหรับปลานิล ปริมาณโปรตีนที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของปลานิลที่มีอายุแตกต่างกัน ปริมาณโปรตีนในอาหารปลาก็จะแตกต่างกันด้วย แต่สำหรับลูกปลานิลวัยอ่อน (Juvenile) และลูกปลานิ้ว (Fingerling) เป็นช่วงที่ต้องการอาหารที่มีระดับโปรตีนประมาณ 30-40 % แต่สำหรับปลานิลใหญ่ จะต้องการอาหารที่มีปริมาณโปรตีนลดลงมาเพียง 25-30 %

2. ช่วงเวลาในการให้อาหาร “ปลานิล” โดยปกติแล้วปลานิลจะกินอาหารได้ดีในสภาพน้ำที่มีปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำสูง ซึ่งจะเป็นช่วงเวลากลางวัน เพราะฉะนั้นเกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิลควรให้อาหารปลานิลในเวลากลางวันเป็นดีที่สุดครับ

3. ความถี่ในการให้อาหาร “ปลานิล” ปลานิลจัดว่าเป็นปลาที่ไม่มีกระเพาะอาหารจริง จึงเป็นปลาที่กินอาหารได้ทีละน้อยและมีการย่อยอาหารที่ค่อนข้างช้า การให้อาหารครั้งละมากๆ จะทำให้สิ้นเปลืองเปล่าๆ และยังอาจจะทำให้เกิดน้ำเสียได้ ดังนั้นในการให้อาหารปลานิลให้ได้ประโยชน์สูงสุดจึงควรให้อาหารทีละน้อย แต่ให้บ่อยๆ 4-5 ครั้งต่อวันก็พอ จะทำให้ปลานิลกินอาหารได้หมดและเจริญเติบโตเร็วขึ้นด้วย

4. อัตราการให้อาหาร “ปลานิล” สำหรับปริมาณอาหารสำหรับปลานิล ให้เราพิจารณาจากขนาดของปลานิลและอุณหภูมิของน้ำ หากอุณหภูมิของน้ำสูงขึ้น ก็จะทำให้ปลานิลกินอาหารได้มากขึ้นด้วย สำหรับอุณหภูมิของน้ำที่เหมาะสมจะอยู่ที่ 25-30 องศาเซลเซียส และควรให้อาหารปลา 20 % ของน้ำหนักปลา  แต่สำหรับขนาดเล็กในปลารุ่น อัตราการให้อาหารจะลดลงเหลือประมาณ 6-8 % และสุดท้ายสำหรับปลานิลขนาดใหญ่ อัตราการให้อาหารจะเหลือเพียงประมาณ 3 - 4 % ของน้ำหนักตัวปลาครับส่วนการจัดการระหว่างการเลี้ยงปลานิลในกระชัง ควรมีการตรวจสอบกระชังปลา และมีการซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดทุกๆสัปดาห์ รวมทั้งเกษตรกรควรสุ่มจับปลานิลที่เลี้ยง มาตรวจสอบน้ำหนักด้วย เพื่อที่จะคำนวณปริมาณอาหารสำหรับใช้เลี้ยงปลาได้

ที่มา: กรมประมง (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)

โรคปลานิล ที่เกิดจากปรสิตภายนอก

โรคปลานิล ที่เกิดจากปรสิตภายนอก

โรคปลานิล
สำหรับปรสิตภายนอกที่ทำอันตรายต่อปลานิลก็มีอยู่หลายชนิด โดยปรสิตที่ว่านี้ จะเข้าไปเกาะอยู่ตามบริเวณเหงือก ผิวหนัง และครีบของปลานิล ทำให้ปลาเกิดการระคายเคืองเกิดเป็นบาดแผล ส่วนพวกที่เกาะอยู่บริเวณเหงือก ก็จะทำให้มีผลต่อกระบวนการแลกเปลี่ยนก๊าซ ทำให้ปลานิลเกิดปัญหาขาดออกซิเจนได้ ซึ่งปรสิตภายนอกที่เป็นศัตรูของปลานิล ก็มีอยู่มากมายหลายชนิด แต่หลักๆ ก็จะมีดังนี้

โรคที่สำคัญของ "ปลานิล"
1. โปรโตซัว
พยาธิในกลุ่มนี้จะเป็นอันตรายต่อลูกปลานิลมากกว่าปลานิลที่โตแล้ว  ซึ่งชนิดของโรคโปรโตซัวที่พบบ่อยได้แก่ เห็บระฆัง (Trichodina sp,Chilodonella sp,Ichthyophthirius multfilis)
การป้องกันและรักษา: ใช้ฟอร์มาลิน (formalin) อัตราเข้มข้น 5-50 ppm

2. ปลิงใส ทำให้เหงือกปลานิลบวม
ศัตรูปลานิลที่ว่านี้ ได้แก่ Gyrodactylus sp และ Dactylogyrus sp ซึ่งพวกนี้จะเข้าไปเกาะบริเวณเหงือกปลานิล ทำให้เหงือกมีผิวหนาขึ้น หรือเกิดอาการบวม ทำให้ปลานิลหายใจไม่สะดวก
การป้องกันและรักษา: ใช้ฟอร์มาลิน (formalin) อัตราเข้มข้น 5-50 ppm

3. ครัสเตเซียน ปรสิตกินเนื้อเยื่อปลานิล
ได้แก่ Argulus sp,Ergasilus sp,Lernaea sp และ Lamproglena sp ซึ่งปรสิตในกลุ่มนี้ จะมีส่วนของอวัยวะที่มีปลายแหลมสามารถฝังเข้าไปในเนื้อปลา เพื่อยึดเกาะและกินเซลล์ หรือกินเลือดของปลานิลเป็นอาหารได้ ซึ่งจะทำอันตรายต่อปลานิลอย่างรุนแรง ทำให้ปลานิลเกิดบาดแผลขนาดใหญ่และเกิดการสูญเสียเลือด จนอาจถึงขั้นตายได้ ซึ่งศัตรูของปลานิลกลุ่มนี้มักพบในปลานิลที่เลี้ยงในกระชังเป็นส่วนใหญ่ครับ

การป้องกันรักษา: ใช้ดิพเทอร์เรกซ์ ในอัตรความเข้มข้น 0.25-0.05 ppm แช่ไว้ตลอด

เลี้ยงปลานิลในกระชัง

เลือกสถานที่เลี้ยง “ปลานิล” ในกระชังอย่างเหมาะสม

ปลานิล
สำหรับสถานที่ ที่จะใช้เลี้ยงปลานิลในกระชัง จะต้องมีสภาพแวดล้มที่อยู่ในเกณฑ์ดี เพราะเป็นการเลี้ยงปลานิลแบบพัฒนา (Intensive) คือเน้นการเลี้ยงปลานิลโดยใช้อาหารเป็นหลัก คุณภาพของน้ำจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ควรเน้นแหล่งน้ำที่มีความสมบูรณ์ มีน้ำที่ใสสะอาดและมีคุณภาพดี สามารถเลี้ยงในอ่างเก็บน้ำหรือตามแม่น้ำสายหลัก (หากมีพื้นที่อาศัยอยู่ใกล้) หรือตามลำคลองและบึงทั่วไป โดยมีหลักสำหรับเกษตรผู้สนใจจะเลี้ยงปลานิลในกระชังได้พิจารณาดังนี้
เลี้ยงปลานิลในกระชัง
การถ่ายเทของกระแสน้ำ
โดยปกติการเลี้ยงปลานิลในกระชังจะอาศัยการถ่ายเทของน้ำผ่านกระชังปลาเพื่อพัดพาเอาสิ่งดีๆเข้ามา และเพื่อเปลี่ยนถ่ายของเสียออกไป เพื่อให้น้ำบริเวณที่เลี้ยงปลามีคุณภาพดี ดังนั้นควรเลือกสถานที่หรือแหล่งน้ำที่มีน้ำไหลเวียนอยู่ตลอดเวลา

กระแสลม
กระแสลมก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญในการเลี้ยงปลานิลในกระชัง เพราะจะช่วยพัดพากระแสน้ำบริเวณที่เลี้ยงปลา ทำให้เกิดการไหลเวียนของน้ำ ช่วยหมุนเวียนเอาน้ำเสียออกจากกระชังปลาได้

ความลึกของน้ำ
แหล่งน้ำสำหรับเลี้ยงปลานิลในกระชัง ควรมีความลึกพอ เพราะกระชังสำหรับเลี้ยงปลานิลควรอยู่ลึกจากก้นบ่อประมาณ 50 เซนติเมตร เพื่อให้กระแสน้ำด้านล่างกระชังปลาถ่ายเทได้ดี

ห่างไกลจากสิ่งรบกวนต่างๆ
บริเวณที่ลอยกระชังปลา ควรเป็นสถานที่ห่างไกลจากแหล่งชุมชนพอประมาณ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการรบกวนจากผู้คนที่พลุกพล่านไปมา ซึ่งจะทำให้ปลานิลเกิดความเครียด มักได้รับบาดเจ็บจากการว่ายชนกระชังปลาอยู่เสมอ อีกทั้งยังทำให้ปลานิลไม่กินอาหาร สุดท้ายก็จะเป็นปลาที่ไม่สมบูรณ์ การเจริญเติบโตไม่ดีเท่าที่ควรนั่นเองครับ
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ถือว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญในการเพาะเลี้ยงปลานิลในกระชังอย่างมาก หากเกษตรมีการวางแผนก่อนเลี้ยงปลา มีการคัดเลือกสถานที่ ที่เหมาะสมสำหรับเลี้ยงปลานิลในกระชังแล้ว ผลผลิตที่ตามมาย่อมมีคุณภาพ และประสบความสำเร็จในอาชีพแน่นอนครับ

ที่มา: กรมประมง (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)

ปัจจัยที่ช่วยให้การลำเลียงพันธุ์ปลามีประสิทธิภาพ

วิธีลำเลียงพันธุ์ปลา โดยไม่เกิดความเสียหาย

เลี้ยงปลานิล
เทคนิคนี้จัดให้สำหรับคนที่จำหน่ายพันธุ์ปลาโดยเฉพาะครับ เพราะในการขนส่งพันธุ์ปลาในปัจจุบันถือว่ามีความสำคัญ ต่อทั้งผู้ซื้อและผู้ผลิตอย่างมาก เพราะฉะนั้นในการลำเลียงพันธุ์ปลาให้ได้ประสิทธิภาพและไม่เกิดความเสียหาย ต้องคำนึงถึงปัจจัยหลักๆ ดังต่อไปนี้ครับ
ปัจจัยในการขนส่งลูกปลา
1. อุณหภูมิ อุณหภูมิที่ใช้ในการลำเลียงพันธุ์ปลาถือว่ามีความสำคัญอย่างหนึ่ง เพราะการควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ในระดับต่ำๆ และคงที่อยู่เสมอก็จะทำให้อัตราการรอดตายของปลาสูงขึ้น เนื่องจากจะช่วยในเรื่องการเผาผลาญพลังงานของปลาขณะลำเลียงได้ และช่วงเวลาที่เหมาะสมในการลำเลียงพันธุ์ปลาก็คือ ตอนเย็น ตอนกลางคืน หรือไม่ก็ตอนเช้าตรู่ แต่หากมีความจำเป็นต้องลำเลียงพันธุ์ปลาในช่วงเวลาอื่น หรือในช่วงที่มีอากาศร้อน ก็ต้องหาวิธีลดอุณหภูมิลง เช่นอาจจะลำเลียงในรถยนต์ที่มีเครื่องปรับอากาศก็ได้

2. เกลือแกง หากเราเติมเกลือแกงในน้ำที่ใช้ในการลำเลียงพันธุ์ปลา จะช่วยให้ปลาปรับตัวคืนสู่สภาพปกติได้ไม่ยาก นอกจากนี้การเติมเกลือแกงยังช่วยปรับสภาพความเป็นกรด-ด่างของน้ำ และทำให้ค่าความกระด้างของน้ำสูงขึ้น ความเป็นกรดด่างก็จะอยู่ในภาวะสมดุลเหมาะสำหรับการอยู่อาศัยของปลาได้

3. ยาเหลือง เป็นสารเคมีชนิดหนึ่งที่สามารถนำมาใส่ในน้ำที่ใช้ในการลำเลียงพันธุ์ปลา เพื่อช่วยในการป้องกันการติดเชื้อรา และเชื้อแบคทีเรียในระหว่างขนส่งได้


4. น้ำที่บรรจุในการลำเลียง ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการลำเลียงพันธุ์ปลา สำหรับน้ำที่ใช้ควรเป็นน้ำที่สะอาด หากเป็นไปได้ควรเป็นน้ำที่มาจากแหล่งเดียวกันกับที่ใช้ขังปลาก่อนลำเลียง เป็นดีที่สุดครับ