ปลา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
ปลาเป็นแหล่งอาหารสำคัญของมนุษย์
เนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการสูง รับประทานง่าย เหมาะสำหรับคนทุกวัย
แต่จากการรายงานผลการติดตามคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ
ทั่วประเทศของกระทรวงสาธารณสุข พบว่าปัจจุบันแม่น้ำเกือบทุกสายในประเทศไทย ได้แก่
แม่น้ำเจ้าพระยา ป่าสัก ท่าจีน มูล และชี
มีการปนเปื้อนของสารอินทรีย์ แบคทีเรีย
และโลหะหนักในปริมาณที่สูงกว่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนด
เนื่องจากมีการใช้โลหะหนักจำนวนมากทั้งในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และเหมืองแร่ โลหะหนักเหล่านี้สามารถสะสมอยู่ในสิ่งแวดล้อม และห่วงโซ่อาหารได้เป็นระยะเวลานาน
จึงก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ กับคนและสัตว์เป็นอย่างมาก
จำเป็นต้องทำการศึกษาเพื่อหาแนวทางในการแก้ไข
มีรายงานการวิจัยที่ศึกษาพบว่า วิตามินซี
เป็นสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสัตว์น้ำโดยเฉพาะปลา
เนื่องจากปลาไม่สามารถสร้างวิตามินซีเองได้
ซึ่งวิตามินซีจะเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโต การสร้างภูมิคุ้มกัน
และการป้องกันการติดเชื้อ
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาประสิทธิผลของวิตามินซี ต่อการลดความเป็นพิษของสารที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของโครโมโซม
พบว่าวิตามินซีสามารถลดจำนวนเม็ดเลือดแดงที่มีนิวเคลียสผิดปกติ
และลดจำนวนสเปิร์มของปลาที่มีรูปร่างผิดปกติได้
ล่าสุด ผศ.ดร.วรรณีย์ จิรอังกูรสกุล
คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล และคณะได้รับทุนสนับสนุนจากฝ่ายวิชาการ
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อทำการศึกษาผลของอาหารเสริมวิตามินซีในการลดความเป็นพิษของโลหะหนัก
ได้แก่ แคดเมียม ทองแดง และตะกั่ว
ในปลาน้ำจืดที่นิยมเลี้ยงและบริโภคในประเทศไทยที่จัดอยู่ในกลุ่ม 10
อันดับแรกจากข้อมูลสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้แก่ ปลานิล ปลาตะเพียน
และปลาจะละเม็ด โดยนำมาเลี้ยงในตู้ปลาที่บรรจุน้ำประปาที่ผ่านการกรองและการตรวจคุณภาพน้ำตามมาตรฐาน
จำนวนปลาที่เลี้ยงต่อตู้จะไม่แออัดจนเกินไป เพื่อป้องกันไม่ให้ปลาเกิดความเครียด
จากนั้นนักวิจัยได้สังเกต
และบันทึกการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของนิวเคลียสเม็ดเลือดแดง และพยาธิสภาพที่เหงือก
ตับ และไต คำนวณหาค่าความเป็นพิษเฉียบพลันของโลหะหนักทั้ง 3
ชนิดในปลาน้ำจืดที่ศึกษาแต่ละชนิดที่จำนวนชั่วโมงต่างกัน
พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงของนิวเคลียสเม็ดเลือดแดงอย่างผิดปกติมากที่สุดในกลุ่มปลาที่เลี้ยงในน้ำที่มีโลหะหนัก
และกินอาหารปลาปกติ ซึ่งจะส่งผลให้เซลล์ต่าง ๆ ในตัวปลาไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ
ขณะเดียวกันพบว่าลดลงในกลุ่มที่ให้อาหารเสริมวิตามินซี
สำหรับรอยโรคหรือพยาธิสภาพที่ตรวจพบในตัวปลา
ได้แก่ การบวมและการเชื่อมรวมกันของเหงือกแต่ละซี่
การคั่งของเลือดและการตายของเซลล์ตับ นอกจากนี้ยังพบการฝ่อของกรวยไต
การบวมและการตายของเซลล์ท่อไต
พยาธิสภาพเหล่านี้มีความรุนแรงน้อยลงในกลุ่มที่ให้อาหารเสริมวิตามินซี
“การให้อาหารเสริมวิตามินซีจึงสามารถเป็นปัจจัยหนึ่ง ในการช่วยลดความเป็นพิษของโลหะหนักในปลาน้ำจืดได้
เมื่อมีการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม สำหรับปริมาณที่เหมาะสมคือ 1,000 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักปลา
1 กิโลกรัม ซึ่งจะนำไปผสมกับอาหารปลาแล้วปั้นเป็นเม็ด ๆ ก่อนนำไปอบแห้ง” ผศ.ดร.วรรณีย์
กล่าว
สำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลารายใดสนใจอาหารเสริมวิตามินซีดังกล่าว
สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร.0-2201-5563
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 29
ธันวาคม 2551